เน้นสร้างระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง รมว.พม.โชว์รัฐบาลผลักดันนโยบายสวัสดิการสังคมไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ทั้งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ โครงการเรียนฟรี 15 ปี สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน
วานนี้ ( 4 ต.ค.) ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวระหว่างบรรยายพิเศษ เรื่อง วาระแห่งชาติ (Agenda Topics) กับทิศทางการปฏิบัติงานของ พม. ในเวที “การสัมมนาทิศทางการดำเนินงาน พม. ปีงบประมาณ 2554 ” ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยกำหนดนโยบายด้านสังคม ที่มุ่งเน้นการสร้างระบบเพื่อวางรากฐานการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และการผลักดันเรื่องสำคัญของประเทศไปสู่การเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง โดยรัฐบาลได้ผลักดันนโยบายสวัสดิการสังคมไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ การจัดสรรเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุและคนพิการ โครงการเรียนฟรี 15 ปี สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นต้น
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งมีภารกิจในด้านการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ รวมทั้งสวัสดิภาพ สวัสดิการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ได้กำชับให้ส่วนราชการในสังกัดให้ความสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งปรับบทบาท ภารกิจ และมาตรการต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับ 8 ภารกิจหลักที่สำคัญ คือ
1) พัฒนารูปแบบการดำเนินโครงการแม่วัยใส เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชนในกลุ่มเสี่ยง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับร่างยุทธศาสตร์เพื่อให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัดเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน และให้มีการเชื่อมโยงการดำเนินงานแม่วัยใสกับสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล และคัดเลือกผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลเข้ารับการอบรมในการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพื่อนำไปเผยแพร่ความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่อไป
2) การพัฒนา “ศูนย์ประชาบดี 1300” ให้เป็นศูนย์เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาด้านสังคมในระดับพื้นที่
3) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในระดับตำบลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
4) ผลักดันเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน
5) ขับเคลื่อนการดำเนินงานการสงเคราะห์ในการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11 (12)
6) ปรับรูปแบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านระบบธนาคารเข้าบัญชีผู้สูงอายุโดยตรง
7) ให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เร่งทำงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม พร้อมประสานสื่อมวลชนในพื้นที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
8) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ขอให้ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ หรือบุคคลที่เชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ หรือบุคคลที่ประสบปัญหาทางสังคมโดยเร่งด่วน พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็งโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหายเป็นสำคัญ และรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้แก่กลุ่มเสี่ยงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์
http://www.thaireform.in.th/news-conscious/2054--8--.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น